วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กระบวนการคิด


ความจำเป็นที่ต้องพัฒนากระบวนการคิด/ ความสามารถในการคิด

             การรู้จักคิดหรือคิดเป็นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง คิดเป็นช่วยให้ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ดูเป็นฟังเป็น กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น คบหาสมาคมเป็น และการคิดทำให้คนฉลาด
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีความสามารถทางด้านการคิด วิเคราะห์เป็นไปตามกรอบ กฎหมาย หลักสูตร ดังนี้
             พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ. ศ. 2542 มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา....จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
             หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544  กำหนดจุดหมายของหลักสูตร เป็นคุณลักษณะของผู้เรียน... ข้อ 2 มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียนและรักการค้นคว้า ...ข้อ 4 มีทักษะและกระบวนการโดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญญาและทักษะในการดำเนินชีวิต   กำหนดเกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อ  2).ผู้เรียนต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิด  วิเคราะห์ และเขียนให้ได้ตามที่สถานศึกษากำหนด
             มาตรฐานการศึกษาชาติ ด้านผู้เรียน ...มาตรฐานที่ 4 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์     เป็นมาตรฐานที่ผลการประเมินคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานอื่น

ความหมายของการคิด

             การคิด    เป็นกลไกของสมองที่เกิดขึ้นตลอดเวลาซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้ในการสร้างแนวความคิดรวบยอดด้วยการจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่มและการกำหนดชื่อเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ได้รับ กระบวนการที่ใช้ในการแปลความหมายของข้อมูล รวมถึงการสรุปอ้างอิงด้วยการจำแนกรายละเอียด การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้อาจจะเป็นความจริงที่สัมผัสได้ หรือเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่อาจสัมผัสได้ ตลอดจนเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการนำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีเหตุผลและเหมาะสม การคิดเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่สมองถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อม สังคมรอบตัว และประสบการณ์ดั้งเดิมของมนุษย์
การคิด เป็นกระบวนการของสมองโดยใช้ประสบการณ์มาสัมผัสกับสิ่งเร้าและข้อมูล หรือสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหา แสวงหาคำตอบ ตัดสินใจหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 
การคิด เป็นพฤติกรรมที่เกิดในสมองเป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า  การที่จะรู้ว่ามนุษย์คิดอะไร คิดอย่างไร จะต้องสังเกตจากพฤติกรรมที่แสดงออก หรือคำพูดที่พูดออกมา
การคิดวิเคราะห์  หมายถึงความสามารถในการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นวัตถุสิ่งของเรื่องราว หรือเหตุการณ์และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสภาพความเป็นจริง หรือสิ่งสำคัญของสิ่งที่กำหนดให้
คิดเป็นหรือคิดอย่างเป็นระบบ หมายถึงการแสวงหาแนวทางตอบข้อสงสัยบางประการ โดยนำเอาข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาจัดวางในกระบวนการคิดอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีคิดที่เมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สมองกับการเรียนรู้
มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ต้องอาศัยสมองและระบบประสาท ซึ่งรับสัญญาณตาม
เส้นประสาทมาจากอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5   จากการสัมผัส มองเห็น ได้ยิน ได้รส กลิ่น  ถ้าผู้เรียนมีความสนใจต้องการเรียนรู้จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง     การหลั่งสารเคมีสะสม จะเกิดกระแสไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน ถ้าการเชื่อมต่อมั่นคง การเรียนรู้ก็จะชัดเจน ถ้าประสบการณ์ไม่ดีเป็นการรับรู้ไม่ต่อเนื่อง ไม่เชื่อมต่อกับความรู้เดิม ไฟฟ้าต้องจุดประกายใหม่ การเรียนรู้ก็ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ถูกต้อง ชัดเจน   โดยแนวคิดเกี่ยวกับสมองทำให้ รู้ว่าความรู้ไม่ใช่สิ่งตายตัวแน่นอนที่ถูกถ่ายทอด ทุกคนรู้เหมือนกัน แต่ความรู้ถูกรับ รวม เลือก หลอมในสมองของคน คนสามารถสร้างความรู้ใหม่จากความรู้เดิม และการเรียนรู้สอนกันตรง ๆ ไม่ได้   คนเรียนรู้ด้วยตนเองจากกระบวนการของสมอง ซึ่งจะกำหนดควบคุมกลไกเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ความรู้สึกความสนใจและการแสดงออก   มีหลักการเบื้องต้น แบ่งการทำงานของสมองเป็น 6 ขั้นตอน/ ระดับ เป็นระดับของสมรรถภาพทางด้านความรู้ความคิด  (cognitive domain)
             1. ความรู้ ความจำ เป็นการทำงานขั้นต่ำสุดของสมอง อารมณ์และความสนใจมีผลต่อความจำ สมาธิ  การเรียนรู้ สติปัญญา และการทำงานของสมอง  เน้นคำถาม   ใคร ทำอะไร ที่ไหน โดยไม่มีการประยุกต์ใช้ เช่น เมืองหลวงของไทยชื่ออะไร
2. ความเข้าใจ ความจำและความเข้าใจ  เป็นกระบวนการคิดอย่างง่ายและมักไปด้วยกัน เน้นคำถามทำไม โดยให้ สรุป อธิบาย บรรยาย แยกแยะ ตีความ หาความต่าง ประมาณ ขยายความ
             3. การนำไปใช้    เป็นการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ของสมอง เน้นคำถามเพื่อแก้ปัญหา ทดลอง คำนวณ  ทำให้สมบูรณ์ ตรวจสอบ หรือค้นพบ   โดยให้ ใช้ข้อมูล ใช้กฎ ใช้ทฤษฎี แสดง คำนวณ ทดสอบ แก้ปัญหา ค้นหา เปลี่ยน ขยายความ              
             4. การวิเคราะห์ เป็นการใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก เป็นการคิดเชิงลึก จำแนก แยกแยะ คิดละเอียดจากเหตุไปผล เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผล เพื่อเข้าใจ รู้ความแตกต่าง เปรียบเทียบความเหมือน ความต่าง ข้อดี ข้อเสีย การวิเคราะห์อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น มี 3 ลักษณะ วิเคราะห์ส่วนประกอบ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ วิเคราะห์หลักการ โดยให้ จำแนก แยกแยะ จัดลำดับ อธิบาย เปรียบเทียบ เลือก อธิบาย
             5. การสังเคราะห์ เป็นการคิดใหม่ ประดิษฐ์สิ่งใหม่ จากการรวบรวมส่วนประกอบย่อยผสมผสานกลมกลืนจนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติต่างไปจากเดิม หรือคิดสร้างแนวคิดใหม่ โดยให้  สร้างใหม่ จัดระเบียบ ทำให้เป็นรูปแบบทั่วไป หาสูตร วางแผน เขียนใหม่ในรูปอื่น
             6. การประเมิน เป็นการคิดตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับมาตรฐานหรือเกณฑ์   เป็นทักษะการคิดชั้นสูง โดยให้ เปรียบเทียบ หาคุณค่า จัดลำดับ สร้างทางเลือก สนับสนุน สรุปความ อธิบาย แยก

มิติของการคิด

             เป็นการวิเคราะห์การคิดเพื่อพัฒนา เป็น 6 มิติ  หากเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและมีคุณภาพก็จะส่งผลให้การคิดนั้นมีคุณภาพตามไปด้วย
1. ข้อมูลหรือเนื้อหาที่ใช้ในการคิด แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม และสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ข้อมูลมากจะเอื้อต่อการคิด
2 คุณสมบัติที่เอื้อต่อการคิด  ได้แก่ ความเป็นผู้มีใจกว้าง เป็นธรรม ใฝ่รู้กระตือรือร้นช่างวิเคราะห์ ผสมผสาน ขยัน กล้าเสี่ยง อดทน  มีความมั่นใจในตนเองและมีมนุษยสัมพันธ์ดี
3. ทักษะการคิด  มี 2ระดับ คือ ทักษะการคิดพื้นฐานและทักษะการคิดชั้นสูง  การคิดพื้นฐาน เป็นทักษะเบื้องต้น ไม่ซับซ้อนเป็นพื้นฐานต่อการคิดระดับสูง เช่น ทักษะการสื่อความหมาย การฟัง การอ่าน การจำ การพูด การเขียน ทักษะการคิดที่เป็นแกน เป็นทักษะทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสังเกต การสำรวจ การตั้งคำถาม การจัดลำดับ การเปรียบเทียบ การสรุปอ้างอิง การตีความ แปลความ  การให้เหตุผล การสรุป การขยายความ   ทักษะการคิดชั้นสูง ใช้ทักษะพื้นฐานซับซ้อน เช่น การวิเคราะห์ สังเคราะห์ การประเมินผล การจัดระบบความคิด การค้นหาแบบแผน การสร้างความรู้
4. ลักษณะการคิด เป็นเป้าหมายของการคิด แยกแยะการคิดตามผลของการคิดที่เกิดขึ้น
เช่น คิดคล่อง คือคิดอย่างรวดเร็ว ให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก คิดหลากหลาย คือ คิดให้ได้ข้อมูลหลายประเภท นอกจากนี้ยังมี คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดอย่างมีเหตุผล คิดถูกทาง คิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล
             5. กระบวนการคิด เป็นการคิดที่ต้องดำเนินการไปเป็นลำดับขั้นตอน ต้องอาศัยทักษะการคิดหรือลักษณะการคิดจำนวนมาก กระบวนการคิดที่สำคัญ เช่น กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดแก้ปัญหา กระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กระบวนการตัดสินใจ เป็นต้น
             6. การควบคุมและการประเมินการคิดของตนเอง  หมายถึงการรู้ถึงความคิดของตนเองในการกระทำ หรือการประเมินการคิดของตนและใช้ความรู้นั้นในการควบคุมหรือปรับการกระทำ เรียกว่าการคิดอย่างมียุทธศาสตร์ ‘strategic thinking’  ซึ่งครอบคลุม การวางแผนการควบคุม กำกับการกระทำของตนเอง การตรวจสอบความก้าวหน้า และการประเมินผล

กระบวนการคิด 

เป็นการคิดที่ต้องดำเนินตามลำดับขั้นตอน มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
-          จุดมุ่งหมายของกระบวนการ
-          ลำดับขั้นตอน
-          การปฏิบัติตามขั้นตอน

กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้ความคิดที่รอบคอบ  สมเหตุสมผล ผ่านการพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่างกว้างไกล ลึกซึ้ง และผ่านการพิจารณาไตร่ตรองทั้งด้านคุณ-โทษ และคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นมาแล้ว มีขั้นตอน ดังนี้
1. สังเกต
2. ทำความกระจ่างชัดในข้อมูล
3. คาคะเนคำตอบ
4. จัดกระทำข้อมูล
5. สรุปข้อมูลโดยใช้เหตุผล

กระบวนการคิดแก้ปัญหา

เป็นความพยายามที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย โดยดำเนินการอย่างเป็นระเบียบ ไม่สับสน และสามารถแก้ปัญหาอย่างได้ผล มีขั้นตอน ดังนี้
1. ระบุปัญหา
2. วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา
3. แสวงหาทางแก้ปัญหาหลาย ๆ  ทาง
4. เลือกทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
5. ลงมือดำเนินการแก้ปัญหาตามวิธีการที่เลือกไว้
6. รวบรวมข้อมูล
7. ประเมินผล

กระบวนการตัดสินใจ

เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลตกอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง




การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)


การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)

ความหมายของการประยุกต์
                หมายถึง การนำ บางสิ่ง” มาใช้ประโยชน์ โดยปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาวะที่เฉพาะเจาะจง
                การประยุกต์เป็นวิธีการนำบางสิ่งมาใช้ประโยชน์ บางสิ่ง” ที่นำมานั้น อาจเป็นทฤษฎี หลักการ แนวคิด ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และนำมาใช้ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ  โดยปรับให้เข้ากับบริบทแวดล้อมที่เป็นอยู่อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บางสิ่ง” นั้น อาจเป็นวัตถุสิ่งของที่นำมาใช้นอกเหนือบทบาทหน้าที่เดิมเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทใหม่
ตัวอย่าง
                                การรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทย แทนที่จะให้คนในสมัยนี้แต่งกายเหมือนคนสมัยก่อน ทางที่ดีกว่าคือนำบางส่วนที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น ผ้าลายไทย ผ้าทอมือ ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย เป็นต้น แล้วนำมาตัดเย็บเป็นชุดทำงานสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการประยุกต์ผ้าไทยซึ่งคนสมัยก่อนเคยสวมใส่ โดยนำมาตัดในรูปแบบใหม่เป็นชุดสมัยนิยมใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่สามารถแสดงออกซึ่งความเป็นไทยตามวัตถุประสงค์
                ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า ประยุกต์” ในความหมายที่ค่อนข้างแคบ จำกัดขอบเขตเฉพาะการนำความรู้ในวิชาการต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ โดยให้ความหมายไว้ว่า นำความรู้ในวิทยาการต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น วิทยาศาสตร์ประยุกต์ จิตวิทยาประยุกต์

การคิดเชิงประยุกต์ในความหมายอื่น
1.       การประยุกต์ เป็นการนำ ภาคทฤษฎี” สู่ การปฏิบัติ
2.       การประยุกต์ เป็นการนำ ความรู้สาขาหนึ่ง” มาปรับใช้กับ อีกสาขาหนึ่ง
3.       การประยุกต์ เป็น การปรับใช้” มิใช่ การลอกเลียน
4.       การประยุกต์ นำ บางส่วน” ของ บางสิ่ง” มาใช้
5.       การประยุกต์นำสิ่งหนึ่งมาปรับใช้ใน บทบาทหน้าที่ใหม่” เพื่อ เป้าหมายใหม่

อ้างอิง
 เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์. การคิดเชิงประยุกต์. กรุงเทพ : ซัสเซสมีเดียม, 2546.



ขอขอบคุณ
โดย kunwee

1 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องความคิดเป็นความรู้ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะรับรุ้...ซึ่งต้องควรรู้ให้เท่าทันตัวเองและผู้อื่น

    ตอบลบ